เมนู

วิริยลักขณปัญหา ที่ 11


ราชา

สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสปุจฉาด้วยลักษณแห่ง
วิริยะว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า อันว่าวิริยะนั้นเล่ามีลักษณะเป็นประการใด
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อันว่าวิริยะนี้มี
ลักษณะว่าอุปถัมภนาการค้ำชูไว้ มิให้กองกุศลธรรมทั้งหลายสิ้นเสื่อมสูญไป ของถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงตรัสว่า นิมนต์อุปมาให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปาน
เหมือนเรือนอันเก่าชำรุดทรุดเซ ปตนฺเต อันจะล้มไป เขาจึงเอาไม้เข้าค้ำจุนไว้ มิให้เรือน
เก่าตีเสนขาดนั้นล้มลง ช่วยปะทะปะทังค้ำจุนไว้ ยถา มีครุวนาฉันใด วิริยะก็อุปถัมภ์ค้ำชูไว้ซึ่ง
กุศลธรรมในสันดานอันมีจิตเป็นกุศลมิให้เสื่อมไปได้ ดุจตะม่อไม้จุนเรือน ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินทร์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมา
ให้ยิ่งไปกว่านี้ก่อน
พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจ
บรมกษัตริย์เสด็จไปปราบอรินทร์ราชด้วยเสนาเป็นอันมาก ก็มิอาจจะรุกรบหมู่อรินทร์อันน้อยได้
อันดับนั้นไป จึงมีพระราชโองการให้เสนาไปแต่น้อย ตั้งตัวนายไปตรวจตราตามหน้าที่ เรียงตัว
กันเป็นกองอุดกองหนุน กำชับกำชาเป็นอันดี ก็เข้ากระโจมตีเสนาอันมากมายให้พ่ายแพ้ไปอาศัย
ตั้งกองอุดกองหนุนและกองตรวจตรา ยถา มีครุวนาฉันใด วิริยะมีลักษณะค้ำชูไว้ซึ่งกองกุศลมิ
ให้เสื่อมได้ อุปมาดุจเสนน้อยมีกาองหลังตรวจอุดหนุนค้ำชู ยังหมู่เสนาเป็นอันมากให้กระ
จัดกระจายพ่ายแพ้ไปนั้น ต้องด้วยพระพุทธฎีกาสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์อนาวรณญาณ
ตรัสประทานธรรมเทศนาไว้ดังนี้ วิริยพโล ภิกฺขเว อริยสาวโก อกุสลํ ปชหติ กุสลํ ภาเวติ
สาวชฺชํ ปชหติ อนาวชฺชํ ภาเวติ สทฺธมฺมา น ปริหายนฺตีติ
กระแสดพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวโก พระอริยสาวกย่อมฝักใฝ่ในวิริยพละมีเพียรเป็นกำลังยังกอง
อกุศลให้สูญเสื่อมไป แล้วให้กุศลธรรมจำเริญสุกใสไพโรจน์ ละเสียซึ่งสิ่งอันเป็นโทษกระทำ
แต่ที่หาโทษมิได้นั้น น ปริหายนฺติ มิให้สูญเสียจากพระสัทธรรม นี่แหละสมเด็จพระสรรเพชญ์
พุทธเจ้า โปรดไว้ฉะนี้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ได้ทรงฟังก็มีพระทัยชื่นชมภิรมย์รับคำว่า พระผู้
เป็นเจ้าช่างกล่าวอุปมา ฟังดูก็สมควรในกาลบัดนี้
วิริยลักขณปัญหา คำรบ 11 จบเท่านี้

สติลักขณาปัญหา ที่ 12


ขณะนั้นพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามด้วยลักษณะแห่งสติ
ต่อไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า สตินี้เล่ามีลักษณะประการใด
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สติมีลักษณะ 2
ประการ คือ อปิลาปนลักขณะสติ 1 อุปคัณหณลักขณาสติ 1
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลิทน์มีพระราชโองการซักถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาค
เสนผู้มีปัญญาปรีชา อปิลาปนลักขณาสตินั้นประการใด
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร อปิลาปนลักขณาสตินั้น คือ
อารมณ์ให้ระลึกไปในธรรมทั้งหลายคือ เตือนว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนั้นชั่ว สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้
เป็นโทษ สิ่งนี้เป็นคุณ สิ่งนี้ขาวสิ่งนี้ดำ เตือนอารมณ์ให้ระลึกในธรรมทั้งหลายนี้ว่า ธรรมสิ่งนี้
เป็นสติปัฏฐาน 4 ธรรมสิ่งนี้เป็นสัมมัปปธาน 4 ธรรมสิ่งนี้เป็นอิทธิบาท 4 ธรรมสิ่งนี้เป็น
อินทรีย์ 5 ธรรมสิ่งนี้เป็นพละ 5 ธรรมสิ่งนี้โพชฌงค์ 7 ธรรมสิ่งนี้เป็นอัฏฐังคิกมรรค 8
ประการ ธรรมสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นฌาน
เป็นสมาบัติ เป็นวิชชา เป็นวิมุตติ เป็นกองจิตกองเจตสิก เมื่อโยคาวจรได้อปิลาปนลักขณาสติ
เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงธรรมดังนี้ ก็มิได้ส้องเสพซึ่งธรรมอันมิควรจะส้องเสพ กลับส้องเสพซึ่ง
ธรรมควรจะส้องเสพดังนี้ ชื่ออปิลาปนลักขณาสติ ของถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสนิมนต์พระนาคเสนให้กระทำ
อุปมา
พระนาคเสนจึงเถรวาจาอุปมาถวายว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร
เปรียบปานดุจภัณฑาคาริกบุรุษผู้หนึ่งเป็นชาวคลังของบรมจักร ย่อมทูลบรมจักรตักเตือนให้
ระลึกถึงสมบัติทุกเช้าเย็น ทูลว่าเครื่องประดับช้างเท่านั้น ม้าเท่านั้น รถเท่านั้น พลเดินลำลอง
เท่านั้น ทองเท่านั้น เงินเท่านั้น ยถา มีครุวนาฉันใด อปลาปนลักขณาสตินี้ไซร้ อุปฺปชฺชมานา
เมื่อบังเกิดก็เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงปฏิภาคธรรมทั้งหลาย คือกุศลอกุศลบาปบุญคุณโทษ
เปรียบดุจสีขาวกับดำ และเตือนอารมณ์ให้ระลึกว่า ธรรมสิ่งนี้คือสติปัฏฐาน เป็นอาทิฉะนั้น ก็
ย่อมส้องเสพซึ่งธรรมอันควรจะเสพ อปิลาปนลักขณาสตินี้เตือนอารมณ์ให้ระลึกไปใน
เบื้องหน้าเบื้องหลัง เหมือนชาวคลังระลึกทูลเตือนบรมจอมจักรพรรดิให้ระลึกถึงสมบัตินั้น
ขอถวายพระพร